ค้นหา

Translate

การปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ในบ้าน

การปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ในบ้าน

การปรับปรุงดินโดยทั่วไป พืชแต่ละชนิดต้องการลักษณะของดินในการเจริญเติบโตไม่เหมือนกัน พืชบางชนิดชอบดินที่ดอน แต่พืชบางชนิดชอบดินที่มีน้ำขัง การปรับปรุงดินให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วการปรับปรุงดินทำได้ดังนี้คือ

การปรับปรุงดินในที่ลุ่มน้ำท่วมเป็นบางฤดู ถ้าต้องการจะปลูกพืชไร่ ทำได้ 2 วิธีคือ
1.
ขุดคูทำคันดินรอบบริเวณที่ต้องการปลูกพืช เมื่อฝนตกน้ำท่วมก็สูบน้ำออก โดยสูบน้ำให้ได้ระดับน้ำต่ำกว่าผิวดินมากๆ ก็สามารถปลูกพืชไร่ได้ตามต้องการ เช่น ที่บริเวณเกษตรกลางบางเขน
2. 
ถมดินให้สูงขึ้นกว่าระดับน้ำ แล้วปลูกพืชที่ต้องการ เช่น ตามริมถนน มักจะถมดินให้สูงขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้ริมทาง แต่การถมดินนั้นควรถมให้กว้าง ถ้าถมให้สูงเฉพาะตรงต้นไม้ ดินจะรับน้ำที่รดไว้ไม่พอกับปริมาณที่ต้นไม้ต้องการ

การปรับปรุงดินที่มีน้ำใต้ดินสูง  ทำให้ได้การฝังท่อระบายน้ำซึ่งท่อระบายน้ำนี้จะต้องทำด้วยดินเผา ตรงหัวต่อของท่อกลบด้วยทรายหยาบเพื่อทำให้น้ำซึมผ่านได้สะดวก ท่อระบายน้ำที่ฝังลงไปลึกให้พ้นจากเขตไถพรวน และจะต้องวางท่อให้ห่างกันพอเหมาะ โดยดินทรายวางให้ห่างๆ กันได้ แต่ถ้าเป็นดินเนื้อละเอียด จะต้องวางท่อให้ถี่เข้า  เมื่อน้ำระบายออกจากท่อลงในลำคลองหรือร่องน้ำ แล้วสูบออก เช่น ในประเทศฮอลแลนด์เขาสูบน้ำโดยใช้กังหันลม

ดินเปรี้ยวหรือดินกรด  ดินโดยทั่วไปมักจะเป็นดินกรดอ่อนๆ แต่มีบางแห่งที่เป็นกรดจัดมาก จนปลูกพืชอะไรไม่ขึ้น ดินกรดนี้เกิดจากเหตุดังนี้คือ
1. 
เกิดจากหิน หรือแร่ที่ให้กำเนิดแก่ดิน
2. 
เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังของสารอินทรีย์
3. 
เกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีบางชนิด  ปรับปรุงแก้ไขได้โดยการใส่ปูนขาวหรือปูนมาร์ล  แต่จะใส่มากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความเป็นกรดของดิน เนื้อดินและอินทรีย์วัตถุในดิน แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว การใส่ปูนขาวประมาณ 200 ก.ก. ต่อไร่
ดินหวานหรือดินด่าง  คือดินที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง ซึ่งโดยทั่วไปดินเป็นด่างมักไม่ค่อยพบนอกจากบางแถบของโลก  ในเมืองไทยมักพบบ้างแถบภูเขาหินปูน จังหวัดลพบุรี หรือสระบุรี
ดินด่างเกิดจากเหตุ 2 ประการคือ
          1.  เกิดจากหินหรือแร่ที่ให้กำเนิดแก่ดิน
          2.  เกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีบางชนิด การปรับปรุงแก้ไขดินด่างโดยทั่วไป มักแก้โดยใส่กำมะถันผง แล้วทิ้งไว้ 3-4 อาทิตย์ ใส่กำมะถันปริมาณมากน้อยแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับความชื้น ของดินอินทรีย์วัตถุในดินและเนื้อของดิน

ดินเค็ม  คือดินที่มีเกลือแกงปะปนอยู่ในดินเป็นปริมาณมากจนทำให้เกลือแกงเป็นพิษกับต้นพืชบางชนิด ดินเค็มนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุ 3 ประการคือ
1.
  เกิดจากหินหรือแร่ที่ให้กำเนิดแก่ดิน เช่น ดินทางภาคอีสาน
2.
  เกิดจากเกลือแกงเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น โดยลมพัดเอาไอเกลือมา เช่น ดินแถบชายทะเล หรือน้ำพัดพามา เช่นบางแห่งแถบชายทะเล
3.
  เกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีบางชนิดเป็นเวลานานๆ แต่มีน้อยมาก การแก้ไขปรับปรุงดินเค็มนั้นแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของการเกิด ถ้าดินเค็มนั้นเกิดจากหินหรือแร่ที่ให้กำเนิดแก่ดินเกลือ มักจะสะสมอยู่ใต้ดินลึกๆ บางแห่งคือ 1,000 - 3,000 เมตร เช่นที่เมืองออสเตรีย ถ้าลึกขนาดนี้ เกลือไม่ขึ้นมาบนผิวดิน มีบางแห่งลึกเพียง 50-60 เมตร เช่น ดินเค็มทางภาคอีสาน เกลือจะละลายน้ำและขึ้นมากับน้ำที่ระเหยไปในอากาศ
วิธีแก้ไขปรับปรุงดินเค็มชนิดนี้ก็คือ กันไม่ให้น้ำพาเกลือขึ้นมา อาจจะโดยวิธีใดก็ได้ ดินเค็มที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นหรือเกิดจากปุ๋ยเคมีบางชนิด แก้ไขปรับปรุงโดยเอาน้ำจืดชะล้างหรือโดยการปลูกพืชบางชนิดที่สามารถดูดเกลือเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ แล้วตัดต้นพืชนั้นออกไปใช้ประโยชน์ หรือทิ้งที่อื่น เช่น การแก้ดินเค็มของประเทศฮอลแลนด์ อย่างนี้เป็นต้น

ดินจืด  คือดินที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น เนื่องจากอาหารธาตุที่สำคัญของพืชในดินหมดไปจากดิน เช่น ที่ใช้ปลูกมันสำปะหลัง เมื่อปลูกมันสำปะหลังไปนานๆ แล้วปลูกพืชชนิดอื่นไม่ขึ้น มีทางแก้ไขให้ดินจืดนั้นกลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือไม่ก็เสียเวลานานมากด้วย  โดยทั่วไปแล้วการปล่อยให้ดินจืดแล้วจึงแก้ทีหลังนั้นไม่ถูกวิธี ทางที่ถูกวิธีนั้นก็คือ ควรปลูกพืชบำรุงดินสลับกับการปลูกมันสำปะหลัง แต่ถึงอย่างไรการแก้ไขทำได้ดังนี้คือ
1.  แก้ไขปรับปรุงโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้นว่าโรยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ย กทม. จะต้องใส่ถึง 12 ตันต่อไร่ พร้อมด้วยการเพิ่มปุ๋ยเคมีที่มีโปรแตสสูงๆ เข้าไปด้วย
2.  แก้ไขปรับปรุงโดยการปลูกพืชพวกตระกูลถั่ว อาจเป็นต้นก้ามปู ปลูกให้ถี่ๆ เพื่อทำให้ต้นก้ามปูตั้งตรงสูง ทิ้งไว้ 10-20 ปี เมื่อตัดต้นก้ามปูไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว จึงหันมาปลูกมันสำปะหลังใหม่
การปรับปรุงดินเพื่อปลูกต้นไม้ในบริเวณที่อยู่อาศัย
          ดินในบริเวณที่อยู่อาศัยแถบที่ราบลุ่มกรุงเทพฯ นี้ จะต้องมีการถมดินให้สูงเพื่อปลูกที่อยู่อาศัย ดินที่ใช้ถมที่มักจะเป็นดินที่นำมากจากบริเวณรอบกรุงเทพฯ นี้เอง ซึ่งพอจะแบ่งชนิดของดินออกได้ดังนี้คือ

ดินที่ใช้ถมที่เป็นดินชั้นบน  คือ หน้าดิน  เป็นดินที่ขุดมาจากท้องนาตรงผิวๆ ดิน ดินนี้มีสีดำเข้ม มองเห็นแตกต่างจากดินชั้นบนอย่างเด่นชัด แต่ดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงมีอาหารธาตุของพืช เป็นต้นว่า N , P และ K สูง ดินนี้ลึกประมาณ 6-8 นิ้ว หรือหนึ่งหน้าจอบ โดยทั่วๆ ไปดินชนิดนี้ไม่มีปัญหาในการปลูกพืชทั้งไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุก นอกจากดินบางแห่งซึ่งเป็นดินกรด จัดเป็นดินเปรี้ยว สังเกตการเป็นดินกรดจัดได้โดยดูจากพืชไม่ยอมขึ้น หรือก็ไม่งาม หรือหลังจากฝนตกใหม่ๆ ถ้าแรกน้ำที่ขังอยู่ใสสะอาดดี แสดงว่าดินนั้นเป็นดินกรดจัด ดินชนิดนี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง จึงจะใช้ปลูกพืชได้
ดินที่ใช้ถมเป็นดินชั้นล่าง  ซึ่งโดยทั่วไปดินชั้นล่างมักจะมีสีจางกว่าดินชั้นบน อาหารธาตุของพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนมีน้อยกว่าดินชั้นบนและมีไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช P และ K มีอยู่ในดินชั้นล่างเหนือดินชั้นบน แต่ดินชั้นล่างมีสีดำจัดก็มีลักษณะ หรือคุณสมบัติเหนือดินบน แต่ถ้าดินชั้นล่างนั้นเป็นดินที่มีสีแดงปนน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนเหลืองอยู่ทั่วๆ ไป ดินชนิดนี้มักเป็นดินที่มีกรดจัด ไม่เหมาะแก่การปลูกพืช นอกจากนั้นแล้ว อาหารธาตุของพืชพวก N , P และ K ต่ำ และมีสารพวกอลูมิเนียมละลายออกมามากถึงกับเป็นพิษกับต้นพืชไม้ยืนต้น ไม้ดอกประดับ และหญ้าแทบจะไม่ขึ้น จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นอย่างดี จึงจะใช้ปลูกพืชต่างๆ ได้

ดินที่ใช้ถมที่เป็นทรายขี้เป็ด หรือทรายละเอียด  ทรายชนิดนี้ประชาชนนิยมใช้ถมที่กันมาก เพราะราคาถูก ถมแล้วไม่ยุบ ดีมากสำหรับสิ่งปลูกสร้าง แต่สำหรับการเกษตรแล้วไม่ดีเลย ดินชนิดนี้มีอาหารธาตุของพืชต่ำมาก หรืออาจไม่มีเลยก็เป็นได้ การที่จะใช้ดินชนิดนี้ปลูกพืชในบริเวณบ้านจะต้องมีการปรับปรุงเป็นอย่างมาก หรือถ้าจะให้ดีควรถมทรายเฉพาะตรงที่ที่จะปลูกสิ่งก่อสร้างหรือทางรถยนต์ในบ้าน ที่อื่นๆ ควรจะถมด้วยหน้าดินหรือดินชั้นบน อย่างน้อยจะต้องถมหน้าดินสูงสักหนึ่งฟุตถึงครึ่งเมตร

ดินที่ถมด้วยเศษเหลือจากสิ่งก่อสร้าง  เป็นต้นว่าซีเมนต์ที่ใช้โบกผนัง ที่ตกลงมาแห้งกับพื้น หรือวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างอื่นๆ วัสดุนี้ถ้าใช้ถมที่แล้ว ปลูกพืชจะมีปัญหามาก แต่ถ้าถมที่แล้ว ถมดินทับด้วยดินชั้นบนให้สูงสักหนึ่งฟุต หรือครึ่งเมตรก็จะหมดปัญหาไป

ดินที่ถมด้วยเลนตามท่องร่องสวน  ดินที่ลอกท้องร่องนี้มักเป็นดินที่มีเศษเหลือของพืชและสัตว์เน่าเปื่อยผุพังทับถมกันอยู่เป็นเวลานาน การเน่าเปื่อยผุพังจวนจะสมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อลอกท้องร่องขึ้นมาถมที่ก็สามารถปลูกพืชได้เลย

ดินที่ถมด้วยเลนตมตามคลองที่อยู่อาศัยมีน้ำเสีย  ดินชนิดนี้บางแห่งไม่มีปัญหา แต่บางแห่งมีปัญหามาก เพราะมีสารที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของพืชสะสมอยู่ สารที่เป็นพิษบางชนิดก็สามารถทำลายได้ แต่บางชนิดไม่สามารถทำลายได้ จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจึงจะสามารถใช้ปลูกพืชได้
กาปรับปรุงแก้ไขดินที่ใช้ปลูกพืชในบริเวณที่อยู่อาศัย

ดินชั้นบนหรือหน้าดิน  เป็นดินที่มีอาหารธาตุของพืชอุดมสมบูรณ์สูงอยู่แล้ว นอกจากบางแห่งที่เป็นดินเปรี้ยวจัด สามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยการใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล โดยใส่ประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อดินดินหนึ่งตารางเมตร แล้วขุดดินผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 อาทิตย์ ก็สามารถใช้ปลูกพืชได้ ถ้าจะใช้ปลูกพวกไม้ดอกไม้ประดับ หรือผักสวนครัว ก็ควรจะเพิ่มปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเทศบาล 1-2 บุ้งกี๋ ต่อ 1 ตารางเมตร และขุดดินผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วปลูกพืชได้เลย ปุ๋ยอินทรีย์ที่กล่าวถึงนี้ นอกจากจะให้อาหารธาตุของพืชแล้ว ช่วยทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำไว้ให้กับต้นพืชอีกด้วย

ดินชั้นล่างที่สีน้ำตาลปนเหลือง  มักเป็นดินกรดจัด การปรับปรุงโดยการใส่ปูนขาวประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร แล้วขุดดินผสมคลุกเคล้า รดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 อาทิตย์ จึงจะใช้ปลูกพืช ถ้าปลูกพืชอย่างอื่นก็ควรผสมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปด้วย ดินชนิดนี้มีอาหารธาตุของพืชต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธาตุไนโตรเจนมีน้อยมาก ส่วนฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมมีอยู่บ้าง แต่เนื่องจากการจัดอาหารธาตุของพืช พวกฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมจึงถูกปลดปล่อยออกมาให้กับต้นพืชน้อย เมื่อมีการแก้ไขปรับปรุง โดยการใส่ปูนขาว ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมมีมากขึ้น ส่วนอาหารธาตุของพืชไนโตรเจนจำเป็นต้องใส่

ดินที่ถมด้วยทรายขี้เป็ด  ดินทรายขี้เป็ดนี้มีอาหารของพืชน้อยมาก ปรับปรุงให้เหมาะกับการปลูกพืชโดย การใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตรที่มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมในระดับเท่าๆ กัน  ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักควรจะใส่ 3-4 บุ้งกี๋ ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แล้วขุดดินให้ปุ๋ยคอกกับดินผสมกันให้ดี แล้วใช้ปลูกพืชได้เลย ส่วนปูนขาวไม่จำเป็นต้องใส่ เพราะดินนี้ไม่ใช่ดินเปรี้ยว
ดินที่ถมด้วยวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้าง  วัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างนี้มักจะมีซีเมนต์แห้งปนอยู่ ซีเมนต์แห้งนี้เป็นพิษกับต้นพืช มีฤทธิ์เป็นด่างอย่างแรง แก้ไขได้โดยใส่กำมะถันผง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนซีเมนต์ กำมะถันผง 1 ส่วน ควรจะแก้ซีเมนต์แห้งได้ 6-7 ส่วน เมื่อใส่กำมะถันผงแล้ว จะรดน้ำให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้ 3-4 อาทิตย์ ก็ใช้ปลูกพืชได้ การแก้ทิ้งระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ ที่ควรจะทำก็คือ เมื่อใช้วัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างถมที่แล้ว ใช้หน้าดินถมที่ทับ ถ้าใช้เป็นดินทำสนามหญ้าปลูกพืชล้มลุก ก็ควรจะถมดินทับอย่างน้อย 1 ฟุต แต่ถ้าเป็นไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ควรจะเป็น 2-3 ฟุต

เลนตมที่ได้จากร่องสวนหรือตามห้วยหนอง  ดินนี้มีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ดินนี้มักจะเหนียวมาก แก้โดยการโรยปูนขาวหรือปูนมาร์ล แล้วผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันให้ดี ทิ้งไว้สักระยะเวลาหนึ่ง ดินนั้นจะหายเหนียว

เลนตมที่ได้จากลำคลองที่อยู่อาศัยมีน้ำเสีย  เลนตมชนิดนี้มีสารที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่ด้วย สารที่เป็นพิษกับต้นพืชที่อยู่ในดินชนิดนี้พอแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
1.
  สารที่เป็นพิษที่เกิดจากอินทรีย์สาร  เกิดขึ้นจากการเน่าเปื่อยผุพังของอินทรีย์สารในที่ที่มีอากาศไม่เพียงพอ การเน่าเปื่อยผุพังจึงไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นสารพิษขึ้น เป็นต้นว่า แก๊สไข่เน่า แก้ไขได้โดยเอาดินนี้ขึ้นมา ตากแดดผึ่งลมให้ได้รับอากาศอย่างทั่วถึง เพื่อทำให้การเน่าเปื่อยผุพังของอินทรีย์สารสมบูรณ์ สารที่เป็นพิษก็จะหมดไปจากดิน ตากดินไว้อย่างน้อย ประมาณ 3-4 อาทิตย์ ก็สามารถปลูกพืชได้ และเป็นปุ๋ยอย่างดี
2.
  สารพิษที่เกิดจากอนินทรีย์ ได้แก่ สารหนู ทองแดง สังกะสี ดีบุก ตะกั่ว สารพิษนี้ถ้ามีเป็นปริมาณมาก สารบางชนิดอาจะเป็นพิษแก่มนุษย์ด้วย ถ้าจะใช้ถมที่ก็ควรจะถมดินชั้นบน ทับให้เลนตมนี้อยู่ใต้พื้นดินลึกๆ เพราะถ้าอยู่ตื้นๆ พืชอาจจะดูดเอาสารพิษขึ้นมาดินชั้นบน แต่ถ้าปลูกพืชพวกไม้ดอกไม้ประดับก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นไม้ผลหรือพืชที่ต้องเอามารับประทานไม่ค่อยดี ส่วนสารเป็นพิษในดินนั้น มีทางที่จะแก้ไข ลดการเป็นพิษลงได้ แต่ไม่ค่อยแนะนำเพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่แนะนำให้เอามาถมที่
การเตรียมดินปลูกพืช
          ไม้ยืนต้น ได้แก่ มะนาว มะพร้าว ลำไย ชมพู่ มะละกอ ฯลฯ การเตรียมดินปลูกพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็ดี การเตรียมดินปูลกพืชนี้มีความสำคัญมาก ถ้าเตรียมดินไม่ดี จะทำให้ต้นพืชตกผลช้า แต่ถ้าเตรียมดินดีแล้วจะทำให้พืชเจริญเติบโตดี ตกผลเร็ว การเตรียมดินปลูกพอจะกล่าวรวมๆ ได้ดังนี้

หลุมปลูก   เตรีมหลุมปลูกพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ยืนต้นควรขุดหลุมให้ลึก กว้างยาวประมาณ 1 เมตร เมื่อเอาดินขึ้นมาตากแดด ตากแดดทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์ แล้วให้เอาขยะหรือเศษเหลือของพืชหรือขี้เถ้า หรือไม่ก็ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเทศบาล หรือปุ๋ยหมัก ใส่ลงไปปนกับดินที่ขุดตากแดดไว้ ถ้าเป็นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเทศบาล 1 ส่วน ควรจะเป็นดิน 5-6 ส่วน ถ้าเป็นเศษเหลือของพืช ควรจะ 1 ส่วน ต่อดิน 3-4 ส่วน ให้ดินผสมกันลงไปในหลุม ถ้าได้เศษเหลือจากโรงฆ่าสัตว์ มาใส่ปนกับดินก็ยิ่งดี เมื่อกลบดินหมดแล้ว ดินนั้นจะพูนเป็นกองสูงขึ้นมา ซึ่งทิ้งไว้นานๆ จะยุบทีหลัง ตรงกลางกองดินควรทำเป็นหลุมไว้ เมื่อกลบดินเสร็จแล้วควรปล่อยทิ้งไว้สัก 2 อาทิตย์จึงลงมือปลูก

การเตรียมดิน  ทำหลุมปลูกนี้ ถ้าดินนั้นถมด้วยดินชั้นบนหรือหน้าดิน ไม่จำเป็นต้องทำหลุมปลูกก็ได้ เพราะดินนี้มีความอุดมสมบูรณ์สูงอยู่แล้ว แต่ถ้าถมด้วยทรายขี้เป็ดหรือดินชั้นล่างที่มีปัญหานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหลุมปลูก

การปลูก  ถ้าเป็นต้นไม้ที่อยู่ในกระถาง ถ้าไม่อยากทุบกระถาง เอาต้นไม้ออกจากกระถางได้โดยเอากระถางได้โดยเอากระถางไปแช่ในน้ำ เพื่อให้ดินร่อนจากกระถาง และทิ้งไว้สัก 5 นาที แล้วยกกระถางออกจากน้ำ ตั้งทิ้งไว้สัก 5 นาที เอามือตบรอบๆ กระถางเบาๆ กางมือขวาออก เอามือซ้ายจับกระถางไว้ แล้วคว่ำลงบนฝ่ามือ ให้ต้นไม้อยู่ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง เอาหัวแม่มือซ้ายสอดเข้าไปตรงรูระบายน้ำก้นกระถาง ดันให้ดินหลุดออกจากกระถาง แล้วยกกระถางออก แต่ถ้าเป็นกระถางปากแคบ ควรจะขุดดินข้างๆ ปากกระถางออกเสียก่อน เพื่อทำให้ดินหลุดออกจากกระถางได้ง่ายเข้า แล้วยกต้นไม้ไปวางบนหลุมกลางกองดินที่ทำไว้ กลบดินให้ท่วมรากต้นไม้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม เป็นเสร็จการปลูก
     ถ้าเป็นกิ่งตอนที่เพิ่งตัดมาใหม่ๆ ก็ควรปลูกใส่กระถางไว้ในที่ร่มหรือที่มีแสงรำไรเสียก่อน จึงนำไปปลูกทีหลัง จะทำให้ต้นไม้นั้นมีทางรอดตายมากกว่า หรือถ้ามีความจำเป็นต้องรีบปลูก ก็ควรเอากิ่งตอนนั้นไปชำเสียก่อน เพื่อให้รากออกมากๆ และแข็งแรงเสียก่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกในหลุมปลูกที่เตรียมไว้
     ควรทำร่มบังแสงแดดจัด ตอนกลางวันให้กับต้นไม้ เพราะถ้าต้นไม้ได้รับแสงแดดจัด ต้นไม่ลดอุณหภูมิลงโดยการคายน้ำ ขณะที่ปลูกใหม่ๆ ต้นพืชดูดน้ำไม่ค่อยดี เพราะรากของพืชสัมผัสกับดินไม่ค่อยดี การทำให้รากพืชสัมผัสกับดินให้ดีได้ดังนี้ก็คือ  กดดินให้แน่นขณะปลูก หรือรดน้ำให้โชกเพื่อให้ดินติดกับรากพืชได้สนิท ถ้าไม่แน่ใจว่ารากพืชสัมผัสกับดินดีก็ควรจะทำร่มกันแดดให้กับต้นพืช เพื่อลดการคายน้ำของต้นพืช การตัดใบออกบ้าง หรือตัดยอดอ่อนออกบ้าง เป็นทางหนึ่งที่จะลดการสูญเสียน้ำของพืช ถ้าเป็นไม้กระถางที่แข็งแรงแล้วและมีดินติดไปมากขณะย้ายปลูก ไม่มีความจำเป็นจะต้องพลางแสงแดดให้ แต่ถ้าเป็นกิ่งตอนมีความจำเป็นมาก มะม่วงชอบดินที่มีการระบายน้ำดี แต่ชมพู่น้ำขังกลับดี มะละกอน้ำขังได้ไม่เกิน 1 วัน จะต้องตาย ดังนั้นมะละกอควรจะปลูกที่สูงๆ หรือเนินดิน ชมพู่ควรปลูกที่ต่ำริมน้ำ
การเตรียมดินปลูกหญ้า
          การเตรียมดินปลูกหญ้าทำสนามหญ้าในบ้าน ก่อนอื่นทั้งหมดควรเกลี่ยดินให้เรียบที่สุดที่จะทำได้ ไม่ควรทำที่ดินให้สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะจะทำให้การตัดหญ้าลำบาก ถ้าเกลี่ยดินลำบากก็ควรเอาทรายช่วยถมที่ลุ่มๆ ดอนๆ แล้วเกลี่ยดินให้เรียบ แต่ที่สำคัญไม่ควรให้ควรให้ทรายมากนัก เมื่อเกลี่ยดินเรียบร้อยแล้วโรยปุ๋ยเทศบาลหรือปุ๋ยคอกให้สม่ำเสมอทั้งบริเวณ ปุ๋ยเทศบาลควรจะสักหนึ่งบุ้งกี๋ต่อดินต่อพื้นที่ 2-3 ตารางเมตร ถ้าจะใช้เลนตมเกลี่ยให้เรียบก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเทศบาล เมื่อโรยปุ๋ยแล้วเอาแผ่นหญ้ามาปู หรือถ้าจะปลูกหญ้าเป็นหย่อมๆ ก็ควรปลูกห่างกันพอควร พยายามกดหญ้าให้ติดกับดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นต้องรดน้ำให้ชุ่มทุกวันจนหญ้าขึ้นเขียว จึงค่อยลดการรดน้ำ ควรเก็บและถอนวัชพืชออกจากสนามหญ้าอย่างสม่ำเสมอ ปุ๋ยที่ใช้มีปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต หว่านปุ๋ยในอัตรา หนึ่งกำมือต่อพื้นที่ 3-4 ตารางเมตร ควรใส่ปุ๋ย 5-6 เดือนต่อครั้ง แล้วฉีดน้ำตามเพื่อให้ปุ๋ยละลายลงไปในดิน ถ้าไม่รดน้ำตาม เมื่อปุ๋ยถูกความชื้น จะทำให้ปุ๋ยทำลายหญ้าไหม้เป็นจุดๆ ไม่สวย ถ้าตัดหญ้าทุกอาทิตย์แล้วปล่อยใบหญ้าที่ตัดออกทิ้งไว้ในสนามเพื่อเป็นปุ๋ยก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยให้กับสนามหญ้า แต่ถ้า 3-4 อาทิตย์ตัดหญ้าครั้งหนึ่ง ไม่แนะนำให้ปล่อยหญ้าไว้ในสนาม เพราะมองดูแล้วไม่สวยงาม
การเตรียมดินปลูกไม้สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับ
          การเตรียมดินปลูก ไม้สมุนไพร จะต้องรู้ธรรมชาติของสมุนไพรว่า ชนิดใดชอบแดดจัด ชนิดใดชอบแสงรำไร เช่น ฟ้าทะลายโจรและเสลดพังพอนตัวเมีย ชอบที่ร่ม แสงรำไร ส่วน ขมิ้นชันและชุมเห็ดเทศชอบแดดตลอดวัน เช่นเดียวกับไม้ดอกไม้ประดับ การเตรียมดินไม่สำคัญเท่ากับสถานที่ สถานที่ๆ จะปลูกไม้ดอกนั้นควรเป็นแปลงที่ได้รับแสงดตลอดวัน ถ้ามีแสงแดดไม่พอจะได้ดอกไม้ที่ไม่สมบูรณ์ หรือไม้ดอกออกดอกน้อย มะลิที่ปลูกในที่ร่มจะได้ดอกน้อย ดาวกระจายสีม่วง หรือดอก cosmos ถ้าปลูกในที่มีแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้ดอกเล็กไม่สวย และอ่อนแอตายก่อนกำหนด ดังนั้นการเลือกที่จึงมีความสำคัญมาก  ไม้ประดับหรือไม้ใบ ต้องการที่ร่มๆ หรือที่มีแสงรำไร การเตรียมดินปลูกจะต้องเตรียมให้ดี  ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเทศบาล หรือปุ๋ยหมัก ควรใส่ 14-2 บุ้งกี๋ ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร  ถ้าดินเหนียวมากควรใส่ปูนขาวด้วย เมื่อผสมปูน ปุ๋ย กับดินให้เข้ากันดี รดน้ำ แล้วปลูกได้เลย  ถ้าดินแปลงนั้นเคยปลูกพืชชนิดนั้นมาก่อน ควรขุดดินออกผึ่งแดดไว้ 2-3 อาทิตย์ แล้วจึงใส่ปุ๋ย แล้วปลูก หลังจากต้นไม้ตั้งตัวได้แล้ว การพรวนดินมีความจำเป็นมาก บานชื่น หลังจากย้ายกล้าปลูก 7 วัน ก็ควรจะพรวนดิน จะทำให้ต้นบานชื่นเจริญเติบโตได้ดีและให้ดอกใหญ่และดก

การเตรียมดินปลูกไม้กระถาง

          ดินปลูกไม้กระถางมีส่วนผสมดังนี้คือ

ดิน  ถ้าเป็นดินเหนียวก็ควรจะตากแดด และทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ ปกติดินเหนียวเมื่อแห้งจะแข็งมาก ทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ ได้ลำบาก ทำให้แตกออกเป็นก่อนได้ง่ายขึ้นก็โดยเอาปูนขาวโรยปนกับดินเหนียวขณะที่ดินยังเปียกอยู่ กะประมาณปูนขาว 1 กิโลกรัมต่อดินเหนียว 1 ลูกบาศก์เมตร แล้วปล่อยตากแดดตากฝนไว้สัก 3-4 อาทิตย์ เมื่อดินแห้งแล้วจะร่วน โดยดินนั้นจะแตกออกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย ไม่จำเป็นต้องทุบ

ปุ๋ยอินทรีย์  ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเทศบาล ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหลาย ควรทุบให้ละเอียด

อินทรีย์วัตถุ  ได้แก่ ขี้กบ เปลือกถั่วลิสงบด แกลบ ปุ๋ยเปลือกมะพร้าว หรือใบไม้แห้ง
อัตราส่วนผสม ดิน 2 ส่วน ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน หรืออินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน เมื่อผสมให้เข้ากันดีแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์ แล้วจึงบรรจุลงในกระถางและปลูกพืชได้เลย ก่อนบรรจุดินลงในกระถาง ควรจะเอากระเบื้องแตกหรือกระถางแตกชิ้นเล็กๆ ปิดตรงช่องระบายน้ำ แล้วกลบด้วยทรายหยาบแล้วจึงบรรจุดิน หลังจากปลูกแล้วควรจะวางกระถางไว้ในที่มีแสงแดดรำไร เพื่อให้ต้นไม้ตั้งตัว แล้วจึงนำเอาไปวางไว้ในที่ที่ต้องการ
การเตรียมดินปลูกบัว

          ใช้ดินที่เตรียมไว้สำหรับปลูกไม้กระถางมา 4 ส่วน ปุ๋ยคอกควรจะเป็นมูลวัว หรือมูลควายที่แห้งและทุบให้ละเอียด 1 ส่วน ผสมกันให้ดี รดน้ำให้ชุ่ม เก็บไว้ในที่ร่มทิ้งไว้ 3-4 อาทิตย์ แล้วจึงบรรจุกระถาง เติมน้ำให้ท่วม และปลูกบัวได้เลย
          ถ้าบัวที่ปลูกไม่ค่อยงาม แก้ไขโดยการใส่ปุ๋ยบัว ถ้าใส่ปุ๋ยบัว โดยเอาปุ๋ยเคมีโรยลงไปในน้ำจะทำให้สาหร่ายขึ้นเขียวไม่สวย ทำได้โดยเอาปุ๋ย ที่มีอัตราส่วนของปุ๋ย N.P.K. เท่ากับ 1:1:1 หรือใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก็ได้ ปุ๋ย 1 ชา ฝังลงไปในดินเหนียว ปั้นให้กลม ตากให้แห้ง แล้วจึงนำไปฝังในอ่างบัว ปกติดอกบัวจะบานประมาณ 3 วัน แต่ถ้าดอกบัวบานใช้เวลาน้อยกว่านั้น แสดงว่าบัวมีอาหารไม่เพียงพอ ก็ควรจะฝังลงไปในอ่างบัวได้

จุดดี และจุดอ่อนของปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี มีดังนี้คือ 

          ปุ๋ยอินทรีย์ จุดดีก็คือ ช่วยทำให้ดินร่วมซุย ลดความเหนียวของดิน ลดการพังทลายของดิน ทำให้ดินอ่อนนุ่ม ทำให้ดินอุ้มน้ำได้มากขึ้น ทำให้ดินสามารถดูดอาหาร ธาตุของพืชไว้ได้มากขึ้น และค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาให้กับต้นพืช ช่วยลดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดินอย่างรวดเร็ว จำทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ปุ๋ยอินทรีย์มักจะมีอาหารแร่ธาตุที่พืชต้องการทั้งปริมาณมากและปริมาณน้อยครบถ้วน และค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาให้กับต้นพืช

          จุดอ่อนของปุ๋ยอินทรีย์คือ มีปริมาณธาตุอาหารของพืชน้อยและต้องใส่เป็นประมาณมากๆ ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง และใส่เป็นปริมาณมากในดินน้ำขังไม่ดี

          ปุ๋ยเคมี  จุดดีของปุ๋ยเคมีคือ มีปริมาณอาหารธาตุของพืชมากและต้องใส่เป็นปริมาณน้อย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่ำ ต้นพืชสามารถใช้เป็นอาหารธาตุของพืชได้ทันที สามารถเร่งให้พืชเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชให้ผลิตผลตามคุณภาพที่ต้องการได้ดี

          จุดอ่อนของปุ๋ยเคมีคือ ถ้าใส่ปุ๋ยไม่ถูกวิธี จะทำให้ดินเสีย ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น หรือเป็นด่างเพิ่มขึ้น ทำให้ดินฟุ้งกระจาย น้ำซึมผ่านได้ยาก ดินถูกน้ำดูดซับอาหารธาตุของพืชได้น้อยลง เนื่องจากปุ๋ยเคมีทำให้อินทรีย์วัตถุในดินลดน้อยลง ปุ๋ยเคมีจึงทำให้ดินแข็ง อาหารธาตุของพืชบางชนิดที่พืชต้องการเป็นปริมาณน้อยอาจจะลดน้อยลง ปุ๋ยเคมีทำให้โครงสร้างของดินเสีย

          ทางที่ดีก็คือ ควรจะใส่ปุ๋ยทั้งปุ๋ยเคมีควบคู่กันไปกับปุ๋ยอินทรีย์ แต่ก็ควรจะทราบว่าระยะเวลาไหนควรจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และระยะเวลาไหนควรจะใส่ปุ๋ยเคมีจึงจะเหมาะ ดังเช่น การจะปลูกต้นสมุนไพร หนุมานประสานกาย เพื่อให้มีสรรพคุณตัวยาครบถ้วนตามต้องการ จะต้องขึ้นอยู่กับการปลูก ในการปรุงปุ๋ยให้มี โอสถสาร คือดินที่ใช้ปลูก เพียงใช้ปุ๋ยธรรมชาติซึ่งประกอบด้วย
ดินลูกรังมีปริมาณ 250 กิโลกรัม/เนื้อที่ดิน 1 ไร่ ซึ่งมีแร่เหล็ก (Fe) และสารต่างๆ ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน แคลเซียม แมกนีเซียม โปรแตสเซียม สังกะสี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปุ๋ยมากมาย
ใช้ผงถ่านป่น หรือขี้เถ้าแกลบโรงสีไฟ 250 กิโลกรัม /เนื้อที่ดิน 1 ไร่ แทนโปรแตสเซียมออกไซด์ ทั้งนี้เพราะผงท่านป่นหรือขี้เถ้าแกลบตามโรงสีมีสารโปรแตสเซียมอ๊อกไซด์อย่างอุดมสมบูรณ์
ใช้สารฟอสเฟท และไนโตรเจน จากสารยูเรีย จากมูลโค กระบือ หรือมูลสัตว์อื่นๆ ตากแห้ง ในน้ำหนัก 250 กิโลกรัม/ที่ดิน 1 ไร่
ปลูกกลางแดด ให้ได้รับแสงอุลตร้าไวโอเลต
เมื่อได้โอสถสารครบถ้วนตามดังกล่าวข้างบน สมุนไพรหนุมานประสานกาย จะมีตัวยาที่มีสรรพคุณครบถ้วน